ประวัติ ของ ตั้ว ลพานุกรม

ชีวิตในวัยเยาว์และการเป็นเชลย [2441 - 2462]

ภก.ดร.ตั้ว ลพานุกรม ถ่ายรูปร่วมกับกองรถยนต์ไทย ในงานสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ณ ประเทศฝรั่งเศส

รองอำมาตย์เอก เภสัชกร ตั้ว ลพานุกรม หรือที่รู้จักกันในนาม รองอำมาตย์เอก เภสัชกร ดร.ตั้ว ลพานุกรม เกิดเมื่อวันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2441ตำบลถนนอนุวงศ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนที่ 3 ของ นายเจริญ ลพานุกรม และ นางเนียร ลพานุกรม (2423 - 2511) มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 5 คน เข้ารับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนเทพศิรินทร์และโรงเรียนราชวิทยาลัย ( ปัจจุบัน คือ โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ )จนกระทั่งอายุ 12 ปี จึงได้ตามเสด็จสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ไปศึกษาต่อ ณ เมืองบัลเกนแบร์ก จังหวัดมาร์ค ประเทศเยอรมนี โดยทุนของพระองค์ ซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่หนึ่งโดยประเทศเยอรมนีสังกัดฝ่ายอักษะ จึงทำให้ไทยกับเยอรมนีต้องประกาศสงครามกันเมื่อปี พ.ศ. 2460 ตั้วถูกจับเป็นเชลยศึกไปคุมขัง ณ ค่ายคุมขังเมือง Celle ทำให้ตั้วมีโอกาสศึกษาภาษาเพิ่มเติม ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมนี ภาษาฝรั่งเศส ตลอดจนศาสตร์อื่นๆ อย่าง คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และดนตรีอย่างขลุ่ยฝรั่ง[5]

ภายหลังการพักรบสงครามเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2461 ตั้วพ้นจากการเป็นเชลยศึก และเดินทางจากเยอรมนีไปยังประเทศฝรั่งเศส สมัครเข้ากองรถยนต์ไทยที่ไปงานพระราชสงครามยุโรป ความสามารถทางภาษาของตั้วทำให้เขาทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาฝรั่งเศสและภาษาเยอรมัน และเรียนรู้วิธีการทหาร ต่อมาได้รับยศจ่านายสิบแห่งกองทัพบกไทย และได้รับเหรียญดุษฎีมาลาของรัฐบาลฝรั่งเศส[7] ตั้วเดินทางกลับถึงประเทศไทยพร้อมกองทหารอาสาเมื่อปี พ.ศ. 2462 และได้รับพระราชทานเหรียญทองช้างเผือก, เหรียญรามาธิบดี กับเหรียญพระราชสงครามยุโรป และปลดประจำการในปีเดียวกัน

เข้าร่วมเป็นคณะราษฎร [2463 - 2476]

ปลายปี พ.ศ. 2462 ตั้วได้เดินทางกลับไปบังยุโรปเพื่อศึกษาต่อ โดยทุนสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้เข้าศึกษาวิชาเคมี และสอบไล่ได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตชั้นเกียรตินิยม โดยเสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง "The Influence of Chemical Composition on the Structure of Crystals" ในปี พ.ศ. 2470 และในปีเดียวกันนี้เองตั้วพร้อมสหายอีก 6 ได้ประชุมร่วมกันและปรารถนาที่จะเห็นความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยให้ทัดเทียมชาติตะวันตกจึงร่วมกันก่อตั้งคณะราษฎรขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย

ภายหลังการเข้าร่วมกับคณะราษฎรแล้ว ตั้วได้ไปศึกษาต่อในวิชาเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมิวนิก ประเทศเยอรมนีและวิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2473 แล้วนั้น ตั้วได้เดินทางกลับประเทศไทยโดยได้แวะไปดูงานทางวิทยาศาสตร์ การวิจัย และอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นก่อนกลับ

ตั้วเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยแยกธาตุชั้น 2 ในศาลาแยกธาตุ กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอก เมื่อทำงานไปได้เพียงครึ่งปี ตั้วก็ได้ร่วมกับคณะราษฎรเป็นคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เมื่อดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตั้วได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลชุดแรก โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2476[9] และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกเช่นกัน

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์คนแรก [2476 - 2484]

เมื่อพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีในเดือนเมษายน พ.ศ. 2476 แล้วตั้วได้ทุ่มเทให้กับงานราชการวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ ตั้วได้รับการเลื่อนขั้นเป็นผู้ช่วยแยกธาตุชั้น 1 เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2475 และในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2477 ได้รับตำแหน่งเป็นนักเคมีและรักษาการตำแหน่งเจ้ากรมของศาลาแยกธาตุ จนกระทั่งเดือนเมษาน พ.ศ. 2478 ศาลาแยกธาตุได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกรมวิทยาศาสตร์ ตั้วจึงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์คนแรก ตั้วได้จัดตั้งสถานศึกษาเคมีปฏิบัติขึ้นในกรมวิทยาศาสตร์ เพื่อฝึกหัดนักเรียนนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาโดยบริบูรณ์จากระดับมัธยมศึกษาให้มีความรู้ความชำนาญทางเคมียิ่งขึ้น

ตั้วให้ความสนใจกับงานวิทยาศาสตร์เป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะการวิจัยที่เกี่วข้องกับงานเกษตรกรรม กรมวิทยาศาสตร์ได้วิจัยและส่งเสริมเกี่ยวกับพืชผลการเกษตรหลายประการ อาทิ การวิจัยเถ้าไม้เพื่อใช้ทำปุ๋ย การวิจัยน้ำมันสน น้ำมันหมู เกลือ เครื่องปั้นดินเผา งานการสำรวจวิเคราะห์ดิน เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้ความสนใจด้านการอาหารของประเทศไทยโดยตั้วเป็นผู้ริเริ่มการส่งเสริมอาหารและกิจการถั่วเหลืองในประเทศไทย ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาส่งเสริมกิจการถั่วเหลืองของกระทรวงเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2480 ซึ่งทำให้กลายเป็นนโยบายของรัฐบาลในเวลาต่อมาที่จะส่งเสริมการบริโภคถั่วเหลืองแก่ประชาชน[10]

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2481 ตั้วได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในอีกวาระหนึ่งในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีสั่งการกระทรวงเศรษฐกิจด้วยโดยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ไปควบคู่กัน นอกจากนี้ ตั้วยังให้ความสำคัญการกับศึกษาเภสัชศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในขณะนั้นไม่มีกฎหมายรองรับวิชาชีพเภสัชกรรมในประเทศไทย ทำให้การขายยาเกิดขึ้นโดยไม่ต้องฝึกปฏิบัติทางเภสัชกรรมมาก่อน ประกอบกับการเรียนการสอนทางเภสัชศาสตร์ซึ่งอยู่ในฐานะแผนกปรุงยา คณะแพทยศาสตร์ศิราชพยาบาลไม่ได้รับการสนุบสนุนงบประมาณจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้วได้ส่งเสริมการเรียนการสอนทางเภสัชศาสตร์โดยจัดหาครูจากกระทรวงและกรมทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยมาสอนในแผนกปรุงยา ตั้วมีบทบาทในการยกระดับแผนกปรุงยาสู่แผนกอิสระเพื่อเตรียมจัดตั้งเป็นคณะเภสัชศาสตร์ จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งจากจอมพล ป. พิบูลสงครามให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกตำแหน่งหนึ่ง[11]

ตั้วล้มป่วยลงด้วยโรคไส้ติ่งอักเสบเมื่อวันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2484 และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2484 สิริอายุได้ 43 ปี ตั้วได้รับการยกย่องให้เป็น "รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย"

แหล่งที่มา

WikiPedia: ตั้ว ลพานุกรม http://www.thaigoodview.com/library/contest2551/so... http://www.dr-toa.org/index.php?option=com_content... http://oservice.skru.ac.th/ebookft/625/chapter_6.p... http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURO... http://lib3.dss.go.th/fulltext/thai_book/900child/... http://siweb.dss.go.th/ http://www.dss.go.th/images/st-article/sti_6_2550_... http://www.most.go.th/main/index.php/org/1504-dss.... http://www.soc.go.th/cab_01.htm http://www.cabinet.thaigov.go.th/bb2_main11.htm